ทำงานผิดท่า ทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง

โรคที่นึกไม่ถึงของการทำงานผิดท่า
ท่านเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่ อาการล้าของกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า สะบักหลังและตามแนวกระดูกสันหลังบริเวณใดบริเวณหนึ่ง อาจเป็นๆ หายๆหรือปวดเรื้อรังตลอดเวลา หากท่านเคยมีอาการเหล่านี้หรือกำลังเป็นอยู่ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะจะนำไปสู่โรค “มายโอเฟสเชี่ยล เพน ซินโดรม” Myofascial Pain Syndromes (MPs) หรือเรียกว่า กลุ่มอาการปวดตึงกล้ามเนื้อและพังผืด

อาการเหล่านี้เกิดได้กับทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะวัยทำงาน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากท่าทาง หรือลักษณะในการทำงานที่ไม่เหมาะสม และทำต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ โดยขาดการผ่อนคลาย หรือยืดกล้ามเนื้อ เพื่อลดความตึงเครียด รวมถึงตำแหน่งและระดับความสูงของอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ไม่เหมาะสม เช่นโต๊ะเก้าอี้สูงมากจนต้องเขย่ง หรือต่ำมากจนต้องก้มทำงานภาวะเหล่านี้บังคับให้กล้ามเนื้อแขนขาทำงานผิดลักษณะกระดูกสันหลังเครียดโค้งงอซ้ำๆ การไม่ใส่ใจดูแลตนเอง ปล่อยให้อาการต่างๆทับถมสะสมเรื้อรังนานไปจนนำไปสู่โรค MPs ได้

การป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหลัง และกระดูกสันหลังนั้น สามารถทำได้โดยปรับท่าทางการทำงาน พฤติกรรม กิจวัตรประจำวันรวมไปถึงการปรับตำแหน่งอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านหรือสำนักงานและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะสมกับสรีระตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) เช่น ลดการทำงานในท่าเดิมๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ปรับระดับเก้าอี้ให้สูงในระดับที่เหมาะสมตามรูปภาพ

วิธีการง่ายๆในการลดความตึงตัวที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อทำได้ด้วยการผ่อนคลายการยืดกล้ามเนื้อค้างไว้ 10-15 วินาที และทำซ้ำท่าละ 5-10 ครั้งโดยยืดแค่ให้รู้สึกตึงโดยต้องไม่มีอาการเจ็บ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด การคืนสภาพปกติให้กล้ามเนื้อพร้อมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพป้องกัน และหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้

การปรับเปลี่ยนท่าทาง และการยืดกล้ามเนื้อมีความหลากหลายซึ่งต้องปรับให้เหมาะสมกับสรีระของแต่ละบุคคลจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบกล้ามเนื้อ และกระดูกสันหลังเพื่อรับการวินิจฉัย รักษาที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยลดอาการปวดฟื้นฟูสภาพกระดูกหลังและกล้ามเนื้อให้แข็งแรงและดำรงการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ยังมีโรค และกลุ่มอาการของกระดูกสันหลังจากการทำงานผิดท่าอีกหลายชนิดที่จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป